สัญญาณมือการเรียกแถวลูกเสือสากล

     การใช้สัญญาณมือเรียกแถวรูปต่าง ๆ ในการฝึกอบรมลูกเสือตามแบบสากลของลูกเสือทุกประเภท ผู้บังคับบัญชาที่จะเรียกแถวนั้นจะต้องเลือกสถานที่ให้เหมาะสมเสียก่อน และยืนตรงแล้วจึงเรียกและให้สัญญาณ (ลูกเสือสำรองใช้คำว่า แพ๊ค ลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่และวิสามัญ ใช้คำว่า กอง)

    1. แถวหน้ากระดานเดี่ยว ผู้ เรียกเหยียดแขนทั้งสองไปด้านข้างเสมอแนวไหล่ มือแบ หันฝ่ามือไปข้างหน้า ให้ลูกเสือเข้าแถวหน้ากระดานแถวเดี่ยว ข้างหน้าผู้เรียกให้แนวตรงกึ่งกลางของแถวอยู่ห่างผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว หันหน้าเข้าหาผู้เรียก กรณีหมู่เดียว – ให้นายหมู่ยืนแลตรงเป็นหลักทางขวา (ทางซ้ายมือของผู้เรียก) ลูกแถวเข้าแถวตามลำดับทางซ้ายของนายหมู่ ยืนเรียงเคียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน ไปจนถึงลูกแถวคนสุดท้าย และปิดหมู่ ด้วยรองนายหมู่ ซึ่งอยู่ซ้ายสุดทุกคน (ยกเว้นนายหมู่) จัดแถวทางขวา (แลขวา) การจัดเรียงระยะเคียง ถ้าเป็น “ปิดระยะ” ระยะเคียงของลูกเสือในแถวหน้ากระดาน คือ ช่วงแขนซ้ายของลูกเสือที่อยู่ทางขวา ยกมือซ้ายขึ้นเท้าตะโพก ให้ฝ่ามือพักอยู่บนตะโพก นิ้วเหยียดกันอยู่ประมาณแนวตะเข็บกางเกง ศอกอยู่เสมอแนวลำตัว การจัดแถวใช้แขนขวาจดปลายศอกซ้าย ผู้เรียกแถวจัดการตรวจแถว แล้วสั่งนิ่งลูกเสือทุกคนลดมือลงพร้อมกันสะบัดหน้ามาอยู่ในท่าตรงและนิ่ง ถ้าเป็น “เปิดระยะ” ระยะเคียงของลูกเสือในแถวหน้ากระดาน คือ สุดช่วงแขนของลูกเสือทางขวาให้ปลายนิ้วกลางมือซ้ายจดไหล่ขวา นับจากนายหมู่เป็นต้นมาจนถึงลูกแถวคนสุดท้ายก่อนถึงรองนายหมู่ กรณีหลายหมู่ – ให้แต่ละหมู่เข้าแถวหน้ากระดานแถวเดี่ยว เหมือนกับที่เป็นหมู่เดียวให้แนวตรงกึ่งกลางของแถวอยู่ห่างจากผู้เรียก 6 ก้าวโดยประมาณ และระยะเคียง ระหว่างหมู่ (ระหว่างนายหมู่ถัดไปทางซ้ายกับรองนายหมู่ทางขวา) เป็นไปตามปกติ และระยะเคียง 1 ช่วงแขน กรณี “เปิดระยะ” เมื่อเข้าแถวเรียบร้อยแล้ว ผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวแล้วสั่งนิ่ง



    2. แถวตอนเรียงหนึ่ง ผู้ เรียกเหยียดแขนทั้งสองไปข้างหน้า เสมอแนวไหล่ มือแบ หันฝ่ามือเข้าหากัน ให้ลูกเสือเข้าแถวตอนเรียงหนึ่งข้างหน้าผู้เรียก นายหมู่หลักซึ่งอยู่หน้าผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว กรณีหมู่เดียว – ให้นายหมู่วิ่งมายืนในท่าตรงเป็นหลักข้างหน้าผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว ลูกแถวเข้าแถวหลังนายหมู่หลัก ยืนให้ตรงคอนายหมู่ข้างหน้า ระยะต่อสุดช่วงแขนของลูกเสือเมื่อยื่นไปจดหลังท่อนบนของผู้อยู่ข้างหน้า ลูกแถวคนอื่น ๆ ก็เข้าแถวซ้อนไปข้างหลังของลูกแถวข้างหน้าตามลำดับ ระยะต่อสุดช่วงแขนดังเดิมและเข้าแถวต่อซ้อนกันไปจนถึงคนสุดท้าย และปิดท้ายด้วยรองนายหมู่ ในระยะต่อสุดช่วงแขนเช่นกัน เมื่อผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวแล้วสั่งนิ่ง ทุกคนลดแขนลงอยู่ในท่าตรงเพื่อฟังคำสั่งต่อไป กรณีหลายหมู่ – ให้เรียกว่า “แถวตอนหมู่” ให้หมู่หลักเข้าแถวตอนตรงหน้าผู้เรียก ห่างผู้เรียก 6 ก้าวโดยประมาณ โดยมี หมู่อื่น ๆ เข้าแถวตอนเป็นแนวเดียวกันไปทางซ้ายและทางขวาของหมู่หลักระยะเคียงระหว่าง หมู่ประมาณ 1 ช่วงศอก ส่วนระยะต่อ 1 ช่วงแขนโดยประมาณ (ไม่ต้องยกแขน)

    3. แถวหน้ากระดานหมู่ปิดระยะ ผู้ เรียกกำมือทั้ง 2 ข้าง เหยียดตรงไปข้างหน้าขนานกับพื้น งอข้อศอกขึ้นเป็นมุมฉาก หันหน้ามือเข้าหากัน ให้ลูกเสือหมู่ที่ 1 มาเข้าแถวหน้าผู้เรียก นายหมู่อยู่ขวามือ ลูกหมู่อยู่ซ้ายมือเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดาน โดยให้ตรงกึ่งกลางของหมู่อยู่ตรงหน้าผู้เรียก ห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว หมู่ต่อ ๆ ไป เข้าแถวหน้ากระดานเช่นเดียวกัน ข้างหลังหมู่แรกตามลำดับ ระยะหมู่ต่อหมู่ประมาณ 1 ช่วงแขน การเข้าแถว ให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนอยู่ทางซ้ายสุด) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าตะโพก (เหมือนดังที่กล่าวไว้ในหมู่แถวหน้ากระดาน) ระยะต่อระหว่างหมู่ต่อหมู่ประมาณ 1 ช่วงแขน (ไม่ต้องยกแขน) สะบัดหน้าไปทางขวา เมื่อผู้เรียกแถวตรวจ การจัดแถวแล้วสั่งนิ่ง ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมสะบัดหน้ามาอยู่ในท่าตรง

    4. แถวหน้ากระดานหมู่เปิดระยะ ผู้ เรียกกำมือทั้ง 2 ข้าง งอข้อศอกเป็นมุมฉาก แขนท่อนบนแบะออกจนเป็นแนวเดียวกับไหล่ หันหน้ามือไปข้างหน้า ให้ลูกเสือทุกคนเข้าแถวเหมือนแถวหน้ากระดานหมู่ปิดระยะ แต่ระยะต่อระหว่างหมู่ของทุกหมู่ขยายออกไปทางด้านหลัง ห่างกันหมู่ละประมาณ 3 ช่วงแขน การเข้าแถว ให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนอยู่ซ้ายสุด) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าตะโพก สะบัดหน้าไปทางขวาระยะต่อระหว่างหมู่ต่อหมู่ประมาณ 3 ช่วงแขน เมื่อผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวแล้วสั่งนิ่ง ลูกเสือทุกคนสะบัดหน้าและอยู่ในท่าตรง

    5. แถวรูปครึ่งวงกลม ผู้ เรียกแถว มือแบทั้ง 2 ข้าง เหยียดตรงลงข้างล่างคว่ำมือเข้าหาตัวโบกผ่านลำตัว ประสานกันด้านหน้าช้า ๆ เป็นรูปครึ่งวงกลม ให้ลูกเสือหมู่แรกยืนด้านซ้ายมือของผู้เรียก โดยนายหมู่หมู่แรกยืนอยู่เป็นแนวเดียวกับผู้เรียก หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไปอยู่ทางด้านซ้ายของหมู่แรกตามลำดับ จนคนสุดท้ายของหมู่สุดท้ายอยู่เป็นเส้นตรงแนวเดียวกับผู้เรียกและนายหมู่ หมู่แรก โดยถือว่าผู้เรียกเป็นจุดศูนย์กลาง การเข้าแถว ให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนซ้ายสุด) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าตะโพก สะบัดหน้าไปทางขวา (ยกเว้นนายหมู่หมู่แรก) เมื่อผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถว แล้วสั่งนิ่ง ลูกเสือทุกคนลดแขนลงสะบัดหน้ามาอยู่ในท่าตรง

    6. แถวรูปวงกลม
      ก. แบบผู้เรียกยืนอยู่ที่จุดศูนย์กลาง ผู้ เรียกแถวมือแบทั้งสองข้าง เหยียดตรงลงข้างล่าง คว่ำฝ่ามือเข้าหาตัวโบกผ่านลำตัว ประสานกันด้านหน้าจดด้านหลังเป็นรูปวงกลม ให้ลูกเสือหมู่แรกยืนด้านซ้ายมือของผู้เรียก โดยนายหมู่หมู่แรกยืนอยู่แนวเดียวกับผู้เรียก หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไปอยู่ทางด้านซ้ายของหมู่แรกตามลำดับ จนคนสุดท้ายของหมู่สุดท้ายไปจดกับนายหมู่หมู่แรก ถือผู้เรียกเป็นจุดศูนย์กลาง การเข้าแถวให้ลูกเสือทุกคนยกมือซ้ายขึ้นเท้าตะโพก สะบัดหน้าไปทางขวา (ยกเว้นนายหมู่หมู่แรก) เมื่อผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวเรียบร้อยแล้วสั่งนิ่ง ลูกเสือทุกคนลดแขนลงสะบัดหน้ามาอยู่ในท่าตรง (การเข้าแถวและการจัดแถวอนุโลมตามแบบ ก.)

     ข. แบบผู้เรียกยืนอยู่ที่เส้นรอบวง ผู้ เรียกแถวมือขวากำเหยียดแขนยกไปข้างบน และเลยไปหลัง ให้ลูกเสือหมู่แรกยืนด้านซ้ายมือของผู้เรียกโดยนายหมู่แรกยืดชิดกับผู้เรียก หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไปอยู่ด้านซ้ายมือของผู้เรียกตามลำดับ จนคนสุดท้ายของหมู่สุดท้าย ไปจดกับผู้เรียกด้านขวามือ ถือผู้เรียกเป็นเส้นรอบวงด้วย

    7. แถวสี่เหลี่ยมเปิดด้านหนึ่ง ผู้ เรียกแถวยืนอยู่ด้านหนึ่ง (ซึ่งเป็นด้านเปิด) ศอกงอยกแขนทั้งสองขึ้นข้างหน้า ให้หน้าแขนทั้งสองไขว้กันตรงฝ่ามือ ฝ่ามือทั้งสองแบเหยียดหันไปข้างหน้า ฝ่ามือขวาไขว้ทับฝ่ามือซ้ายประมาณแนวลูกคาง เป็นสัญญาณถ้ามีลูกเสือ 3 หมู่ ให้เข้าแถวในอีก 2 ด้านที่เหลือ โดยมีนายหมู่ 1 เข้าแถวหน้ากระดานเดี่ยวทางด้านซ้ายของผู้เรียก หันหน้าเข้าในรูปสี่เหลี่ยม หมู่ 2 เข้าแถวหน้ากระดานแถวเดี่ยวด้านตรงข้ามกับผู้เรียก หันหน้าเข้าหาผู้เรียกและหมู่ 3 เข้าแถวหน้ากระดานแถวเดี่ยวตรงข้ามกับหมู่ 1 ทางด้านขวาของผู้เรียก การเข้าแถวให้ลูกเสือทุกคนปฏิบัติเหมือนับการเข้าแถวหน้ากระดาน เว้นระยะตรงมุมของแต่ละด้านให้เท่ากันพอสมควรไม่ซ้อนหรือตรงกัน ถ้ามีลูกเสือมากกว่า 3 หมู่ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้เรียกแถว แต่ควรให้ด้านซ้ายมือกับด้านขวามือมีจำนวนเท่ากัน เมื่อผู้เรียกแถวตรวจแถวเรียบร้อยแล้วสั่งนิ่ง ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมสะบัดหน้าอยู่ในท่าตรง

    8. แถวรัศมีหรือล้อเกวียน ผู้ เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง มือขวาแบคว่ำกางนิ่งออกทุกนิ้ว ชูแขนไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 45 องศา ให้มองเห็นได้ แล้วเรียก “แพ็ค” หรือ “กอง” ให้ลูกเสือทุกหมู่มาเข้าแถวเป็นรูปหมู่แถวตอนหน้าผู้เรียก ห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว เป็นรัศมีโดยให้หมู่แรกอยู่ด้านหน้าทางซ้ายมือผู้เรียกประมาณ 45 องศา หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไปอยู่ด้านซ้ายของหมู่แรกตามลำดับ ถือผู้เรียกเป็นจุดศูนย์กลาง ระยะต่อของแต่ละหมู่ระหว่างบุคคลประมาณ 1 ช่วงแขน ระยะเคียงระหว่างนายหมู่ต่อนายหมู่พอสมควรและนายหมู่หมู่สุดท้ายจะอยู่ด้าน หน้าทางขวามือของผู้เรียกประมาณ 45 องศา การเข้าแถว ให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนอยู่หัวแถวของแต่ละหมู่) เหยียดแขนซ้ายไปข้างหน้า สูงเสมอแนวไหล่ คว่ำฝ่ามือให้ปลายนิ้วมือจดหลังของคนหน้าพอดี ผู้เรียกแถวจัดแถวแล้วสั่ง “นิ่ง” ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมกันและนิ่ง

    9. การใช้สัญญาณมือเป็นคำสั่งให้แถว “พัก” และ “ตรง” ใน การเข้าแถวของหมู่แถวของหมู่ลูกเสือ จะเป็นแนวหน้ากระดานก็ดี แถวตอนก็ดี หรือแถวหน้ากระดานตอนหมู่รูปครึ่งวงกลม หรือวงกลม ตลอดจนแถวรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านหนึ่งก็ดี ผู้เรียกแถวอาจใช้สัญญาณมือเป็นคำสั่งให้แถว “พัก” จากท่าตรง และเป็นคำสั่งให้แถว “ตรง” จากท่าพักก็ได้ โดยผู้เรียกแถวทำ 2 จังหวะ ดังนี้ จังหวะ 1 กำมือขวา งอแขนตรงศอกให้มือที่กำอยู่ประมาณตรงหัวเข็มขัด หันฝ่ามือที่กำเข้าหาหัวเข็มขัดหันฝ่ามือที่กำเข้าหาหัวเข็มขัด จังหวะ 2 สลัดมือที่กำและหน้าแขนไปทางขวาเป็นมุม 180 องศา ประมาณแนวเดียวกับแนวเข็มขัด เป็นสัญญาณให้ “พัก” ตามระเบียบ (ลูกเสือทุกคนปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าพักตามระเบียบ) กรณีที่จะให้สัญญาณมือเป็นคำสั่งให้ “ตรง” ผู้เรียกแถวทำ 2 จังหวะ ดังนี้ จังหวะ 1 กำมือในลักษณะเหมือนกับเมื่อตอนสลัดแขน สั่ง “พัก” จังหวะ 2 จังหวะ 2 กระตุกหน้าแขนให้กำมือกลับมาอยู่ตรงหัวเข็มขัด (จังหวะ 1 ของสัญญาณสั่ง “พัก”) ลูกเสือทุกคนชิดเท้าซ้าย ลดแขนที่ไขว้หลังลงมาอยู่ในท่าตรง สัญญาณนกหวีด สำหรับการฝึกประจำวันหรือในโอกาสที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ห่างไกลลูกเสือ ใช้สัญญาณประเภทอื่นไม่สะดวกก็ใช้สัญญาณนกหวีดแทน คือ

    1. หวีดยาว 1 ครั้ง (——)ถ้าเคลื่อนที่ให้หยุด ถ้าหยุดอยู่เตือน, เตรียมตัวหรือคอยฟังคำสั่ง (หลักการจำ หยูด.......)

    2. หวีดยาว 2 ครั้ง(—— ——) เดินต่อไป, เคลื่อนที่ต่อไป, ทำงานต่อไป (หลักการจำ  ทำต่อไป.......)

    3. หวีดสั้น 1 ครั้ง, หวีดยาว 1 ครั้ง สลับกันไป (— —— — ——) เกิดเหตุขึ้น (หลักการจำ เกิด..เหตุ..เกิด..เหตุ..)

    4. หวีดสั้น 3 ครั้ง หวีดยาว 1 ครั้ง ติดต่อกันไป(— — — —— , — — — ——) เรียกนายหมู่ มารับคำสั่ง (หลักการจำ นาย หมู่ มา  นี้........)

    5. หวีดสั้นติดกันหลาย ๆ ครั้ง (— — — — — — — — —) ประชุม, รวม

    หมายเหตุ เมื่อจะใช้สัญญาณ (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ใช้สัญญาณ (1) ก่อนทุกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น