เครื่องแบบลูกเสือและการทำความเคารพ

เครื่องแบบลูกเสือ


เครื่องแบบแต่ละกลุ่มมีทั้งชายและหญิง ทั้งทั่วไปและเครื่องแบบพิเศษ ประกอบด้วย

    1. หมวก
    2. เสื้อ
    3. กางเกง, กระโปรง
    4. ผ้าผูกคอ
    5. เข็มขัด
    6. ถุงเท้า
    7. รองเท้า

เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือ ลูกเสือสามัญ เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือสามัญ

    (1) เครื่องหมายจังหวัด ทำด้วยผ้า มีขนาด รูปและสีตามกฎกระทรวง ติดที่มุมผ้าผูกคอตรงข้ามฐาน แต่ถ้าใช้ผ้าผูกคอพิเศษสำหรับไปต่างประเทศ ไม่ต้องใช้เครื่องหมายจังหวัด

    (2 ) เครื่องหมายหมู่ ทำด้วยผ้าสีตามสีประจำหมู่ลูกเสือสามัญ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 2 ซม. ยาว 14 ซม. 4 แถบ ซ้อนกัน ติดที่แขนเสื้อใต้ตะเข็บไหล่ซ้าย 1 ซม.

    (3) เครื่องหมายชั้น

      (ก) ลูกเสือตรี ทำด้วยผ้าสีกากี รูปโล่ ยาว 4 ซม. กว้าง 2.5 ซม. มีรูปตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีแดงแต่ไม่มีแถบคำขวัญ และมีคำว่า “ลูกเสือ” สีเหลืองติดที่กึ่งกลางกระเป๋าเสื้อข้างซ้าย

      (ข) ลูกเสือโท ทำด้วยผ้าสีกากี รูปไต ยาว 4.5 ซม. กว้าง 2.5 ซม. มีคำว่า “ลูกเสือ” สีเหลืองเหนือกรอบสีแดงในกรอบสีแดงมีคำว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” สีเหลืองติดที่แขนเสื้อข้างซ้ายกึ่งกลางไหล่กับศอก

      (ค) ลูกเสือเอก ทำด้วยผ้าสีกากี รูปโล่ ยาว 5 ซม. กว้าง 3 ซม. มีรูปตราคณะลูกเสือแห่งชาติสีแดง และมีคำว่า “ลูกเสือ” สีเหลือง ติดที่แขนเสื้อข้างซ้ายกึ่งกลางไหล่กับศอก

    (4) เครื่องหมายประจำการ ทำด้วยผ้าสีเขียว รูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. มีรูปดาว 6 แฉกสีเงินเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. ติดที่อกเสื้อข้างซ้ายเหนือกระเป๋า 1 ซม. จำนวนเครื่องหมายประจำการให้ติดตามจำนวนปีที่ได้เป็นลูกเสือสามัญ วัดระยะระหว่างกัน 5 มม. ตามแนวนอน

    (5) เครื่องหมายสังกัด

       (ก) ชื่อกลุ่มหรือกอง ทำด้วยผ้าสีแดง รูปสีเหลี่ยมผืนผ้ายาว 7 ซม. กว้าง 1.5 ซม. ขลิบริมสีขาว มีชื่อกลุ่มหรือกองสีขาว ติดโค้งตามไหล่เสื้อข้างขวา

      (ข) เลขกลุ่มและเลขกอง ทำด้วยผ้าสีแดง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 3.5 ซม. ขลิบริมสีขาว มีตัวเลขอารบิค เลขกลุ่มสีขาวสูง 1.5 ซม. อยู่ข้างบน และเลขกองสีขาวสูง 1 ซม. อยู่ข้างล่าง ติดใต้เครื่องหมายชื่อกลุ่มหรือกอง กองลูกเสือที่จัดเป็นกลุ่มไม่ได้ ให้มีเลขกองอย่างเดียว

    (6) เครื่องหมายลูกเสือสัมพันธ์ สำหรับลูกเสือตรีและลูกเสือโท ซึ่งได้รับเครื่องหมายลูกเสือสัมพันธ์เมื่อเป็นลูกเสือสำรอง ให้ติดได้เช่นเดียวกับลูกเสือสำรอง

    (7) เครื่องหมายภาษาต่างประเทศ ใช้ประกอบเครื่องหมายวิชาล่ามเบื้องต้น ทำด้วยผ้าสีกากี รูปสี่เหลื่อมผืนผ้า ยาว 6 ซม. กว้าง 1.5 ซม. มีอักษรไทยบอกชื่อภาษาต่างประเทศที่ลูกเสือพูดได้ดี สีขาว ติดที่เสื้อข้างขวาเหนือกระเป๋า ถ้าติดเครื่องหมายลูกเสือสัมพันธ์อยู่แล้วให้ติดใต้เครื่องหมายลูกเสือ สัมพันธ์

    (8) สายยงยศ ทำด้วยเชือกสีเขียวถักเป็นห่วงคล้องต้นแขนขวาใต้อินทรธนู ปลายสายรวมติดที่ดุมใต้ปกกระเป๋าเสื้อข้างขวา ใช้ได้เฉพาะลูกเสือสามัญที่สอบได้วิชาลูกเสือเอกกับสอบได้วิชาเศษตามที่ กำหนดในหลักสูตร

    (9) เครื่องหมายวิชาพิเศษ ทำด้วยผ้าสีกากี รูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 ซม. มีกรอบและคำว่า “ลูกเสือ” สีเขียว ภายในกรอบมีรูปตามเครื่องหมายนั้น ๆ เครื่องหมายวิชาพิเศษ ถ้าสอบได้ไม่เกิน 9 วิชา ให้ติดที่แขนเสื้อข้างขวา กึ่งกลางระหว่างไหล่กับศอกเรียงกันเป็นแถวแนวนอน แถวใดเกิน 3 วิชา ให้ขึ้นแถวใหม่เว้นระยะระหว่างเครื่องหมายและระหว่างแถว 1 ซม. ถ้าสอบได้เกิน 9 วิชา ให้มีสายสะพายจากบ่าซ้ายไปประจบกันที่ใต้เอวขวา ทำด้วยต่วนหรือสักหลาดสีเหลืองกว้าง 10 ซม. ขลิบริมสีขาวข้างละ 1 ซม. และปักเครื่องหมายวิชาพิเศษ

โอกาสในการแต่งเครื่องแบบ

    1.แต่งทุกครั้งที่มีการฝึกอบรมเป็นปกติ
    2.เมื่อควบคุมลูกเสือออกนอกสถานที่
    3.ในพิธีการของลูกเสือ เช่น พิธีเข้าประจำกอง
    4.ในโอกาสอื่นอีกตามสมควร

แต่งกายอย่างอื่น

    (1) แต่งกายลำลอง คือ การแต่งกายสุภาพ ใช้เสื้อมีแขน ประกอบด้วยหมวก ผ้าผูกคอ เครื่องหมายหมู่ เครื่องหมายนายหมู่-รองนายหมู่หรือ พลาธิการและป้ายชื่อ (ห้ามสวมรองเท้าแตะ)

    (2) แต่งกายตามสบาย คือ การแต่งกายสุภาพ (ใช้เสื้อมีแขน-ห้ามสวมรองเท้าแตะ) แต่ไม่ต้องมีหมวกผ้าผูกคอ ส่วนเครื่องหมายอื่น ๆ ควรติดไว้เพื่อจะได้ทราบหมู่และหน้าที่ โอกาสที่จะแต่งกายตามสบาย มักเป็นการเรียนตอบกลางคืน หรือเมื่อเลิกจากฝึกอบรมประจำวันแล้ว การทำความเคารพ - การทำความเคารพเป็นการแสดงวินัยที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ เป็นการแสดงว่า เป็นผู้มีมารยาทเรียบร้อย มีความรักใคร่นับถือซึ่งกันและกันอีกด้วย


การทำความเคารพของลูกเสือของลูกเสือสามัญ เมื่ออยู่ในเครื่องแบบมีวิธีทำความเคารพได้ 2 วิธี คือ

    1. ทำวันทยหัตถ์ ให้ทำวันทยหัตถ์ 3 นิ้ว คือ ยกมือขึ้น นิ้วหัวแม่มือกดนิ้วก้อยไว้ เหยียดนิ้วชี้นิ้วกลาง นิ้วนางชิดกัน ใช้ข้อสุดท้ายของปลายนิ้วชี้แตะที่ขอบหมวกปีก ประมาณตรงหางคิ้วขวา ถ้าสวมหมวกทรงอ่อน (หมวกเบเรต์) หรือมิได้สวมหมวก ใช้ปลายนิ้วชี้แตะที่หางคิ้วขวา ถ้าอยู่ในแถวผู้บังคับบัญชาบอกตรง “ตรง”

    2. ทำวันทยาวุธ คือ การทำความเคารพในขณะที่ลูกเสือถือพลองอยู่ ได้แก่ การทำวันทยาวุธ เมื่ออยู่กับที่ให้ยืนตรงพลองชิดลำตัวด้านขวา โคนพลองชิดนิ้วก้อยเท้าขวา ปลายพลองอยู่ในร่องไหล่ มือขวาจับพลอง มือซ้ายแสดงรหัสลูกเสือ ยกขึ้นคว่ำฝ่ามือลง รวบนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วก้อยจรดกัน เหลือนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เหยียดตรงและชิดกัน งอศอก ยกแขนซ้ายให้อยู่ในแนวเสมอไหล่ และให้ข้อแรกที่ปลายนิ้วชี้ด้านข้างแตะพลองไว้

โอกาสแสดงความเคารพ ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ต่อไปนี้

    1.เคารพต่อธงสำคัญ ๆ เช่น ธงชาติ ธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือประจำจังหวัด ธงประจำกองทหาร ฯลฯ ที่ผ่านไป

    2.เคารพในขณะที่บรรเลงเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า

    3.เคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ บิดามารดา ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ นายทหาร นายตำรวจที่แต่งเครื่องแบบ

    4.เคารพต่อลูกเสือด้วยกัน ในขณะที่พบกันเป็นครั้งแรกในวันหนึ่ง ๆ จะเป็นลูกเสือชาติเดียวกัน หรือต่างชาติก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน รหัสลูกเสือ เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้รู้กันเฉพาะในวงการลูกเสือเท่านั้น ซึ่งลูกเสือทุกคนเมื่อเห็นรหัสนี้ ก็จะรับรู้และเข้าใจความหมายซึ่งกันและกันทันทีว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน” วิธีแสดงรหัส ลูกเสือไทยใช้แสดงรหัสแบบอังกฤษ คือ ยืนในท่าตรงยกมือขวาเสมอไหล่ ข้อศอกชิดลำตัว หันฝ่ามือไปข้างหน้า นิ้วหัวแม่มือกดปลายนิ้วก้อยไว้ อีกสามนิ้วที่เหลือเหยียดขึ้นไปตรงนิ้วชิดกัน (แบบของอเมริกา ต่างกันตรงที่ ข้อศอกไม่ชิดลำตัว แต่ยกข้อศอกตั้งฉากกับต้นแขน) นิ้วทั้งสามที่เหยียดขึ้นไปนั้นมีความหมายถึงคำปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ

โอกาสแสดงรหัส ใช้ในโอกาสต่อไปนี้

    1. เมื่อลูกเสือกล่าวคำปฎิญาณในพิธีปฏิบัติตนเข้าประจำกองและพิธีอื่น ๆ ที่มีการทบทวนคำปฏิญาณ
    2. เมื่อพบกับลูกเสือชาติเดียวกันหรือต่างชาติ เป็นการรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น